เกี่ยวกับเรา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)
SCIENCE-BASED TECHNOLOGY VOCATIONAL COLLEGE (CHONBURI)

เลขที่ 37 หมู่ 3 ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160
โทรศัพท์:   038-447241        โทรสาร:   038-447243
อีเมล์:    SBTVC_2008@HOTMAIL.COM  เว็บไซต์:  https://www.sbtvc-chonburi.ac.th/

ประวัติความเป็นมา

กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งที่ 159/2550 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการนำร่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญภายใต้แผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(พ.ศ. 2547-2556) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและตอบสนองต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคม แต่การพัฒนากำลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา มักมุ่งเน้นไปที่การสร้างและเพิ่มจำนวนบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยจะเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถของธุรกิจให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเพิ่มความสามารถการแข่งขันในระยะยาว แต่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความพร้อมในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยยังมีข้อจำกัดในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านศักยภาพในการทำวิจัยและพัฒนา แหล่งเงิน และบุคลากรที่มีทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มของ “นักเทคโนโลยี” หรือนักประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่มีทักษะฝีมือหรือเก่งทางด้านช่างเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ด้วย กล่าวคือ สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขามาผสมผสานกับความรู้ความชำนาญด้านการประดิษฐ์ เพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ อาทิ การพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การให้บริการในรูปแบบใหม่ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาระบบการผลิตบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน พบว่าระดับอุดมศึกษาเน้นการผลิตบัณฑิตในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ซึ่งเน้นการใช้ความรู้ในเชิงวิชาการ (academic) ในขณะที่ระดับอาชีวศึกษาเน้นการผลิตช่างฝีมือและนักเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมากกว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยี อีกทั้งเมื่อบุคลากรกลุ่มนี้ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจะประสบปัญหาด้านการต่อยอดความรู้ เนื่องจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่เข้มแข็งพอ ประกอบกับระบบการศึกษาปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะด้านสำหรับการสร้างนักเทคโนโลยี ส่งผลให้บุคลากรที่ผลิตออกสู่ตลาดจึงมักเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มช่างฝีมือที่มีความถนัดด้านการลงมือปฏิบัติเพียงอย่างเดียว การสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงเกิดได้ยาก

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งขยายฐานการศึกษาเพื่อบ่มเพาะและสร้างนักเทคโนโลยีที่สามารถผสมผสานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้ากับทักษะด้านช่างเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับภาคการผลิตและบริการของประเทศต่อไปในอนาคต โดยเร่งพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับการสร้างบุคลากรกลุ่มนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานกำลังคนที่ครบถ้วนและเพียงพอที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง โดยมีวิทยาลัยการอาชีพพานทอง จ.ชลบุรี เป็นสถานศึกษานำร่องแห่งแรก และโครงการนำร่องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา

การดำเนินโครงการนำร่องที่วิทยาลัยการอาชีพพานทอง ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี)สามารถรับนักเรียนรุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2551 จำนวน 29 คน และพัฒนาหลักสูตรแล้วเสร็จ 1 หลักสูตร ในระดับ ปวช. สาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนแบบ project-based โดยวิทยาลัยฯ จัดสถานที่พักให้กับนักเรียนเพื่ออยู่ประจำ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) และ สอศ. จัดสรรอัตราบุคลากรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ครูพี่เลี้ยง จำนวน 8 คน เพื่อดูแลนักเรียนทั้งด้านวิชาการและชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด สำหรับวิชาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย (มจธ. มทส. มทร. สจล. และจุฬาฯ) และในปีการศึกษา 2552 มีเป้าหมายรับนักเรียน 1 ห้อง ประมาณ 30 คน แม้ว่า ในช่วงแรกโครงการนำร่องจะมีนักเรียนจำนวนไม่มากนัก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครูพี่เลี้ยงยังขาดประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนแบบ project-based teaching and learning การประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้มข้นและทั่วถึง ทัศนคติและความเชื่อมั่นของผู้ปกครอง รวมทั้งค่านิยมของสังคมที่มีต่อการเรียนสายอาชีวศึกษา จนเป็นอุปสรรคต่อการจูงใจนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม สอศ. และ สวทน. ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดการกับข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยร่วมกันยกร่างแผนแม่บทโครงการในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อวางกรอบการขับเคลื่อนให้เกิดผลเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาความสามารถของครูพี่เลี้ยง แนวทางการคัดสรรนักเรียนที่มีศักยภาพและการปรับระบบบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องขยายผลการจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวไปยังสถานศึกษาอื่นที่มีศักยภาพของ สอศ. ด้วย ภายใต้ชื่อ “โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์” เพื่อขยายฐานการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนเป็นหัวรถจักรของการอาชีวศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตและบริการต่อไปในอนาคต โดยนำประสบการณ์ที่ได้จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) ปรับใช้ในการจัดการศึกษาระบบนักเรียนประจำของโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดซึ่งมีผลต่อการผลิต และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการรองรับกับการพัฒนาประเทศในอนาคต สิ่งสำคัญคือต้องเร่งพัฒนาขยายพื้นที่ห้องเรียนห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิทยบริการ เพิ่มปริมาณวัสดุครุภัณฑ์ทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย รวมถึงหอพักอาศัยของนักเรียนและครูผู้ควบคุมดูแล รวมทั้งการพัฒนารูปแบบหรือแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิสังคม ภูมิอาชีพ และสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตลอดจนพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้หลากหลาย เพื่อเป็นรองรับการการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และเป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่สถานศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์จึงได้จัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด กลยุทธ์ โครงการของสำนักตรวจและประเมินผล เพื่อใช้เป็นแผนในการปฏิบัติงานประจำปีต่อไป